วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เทศกาลงานไหมนานาชาติ

                                          เทศงานไหมนานาชาติ


ผู้ว่าฯขอนแก่นยืนยันจัดงานไหมฯยิ่งใหญ่ 12วัน12คืน
29 พ.ย.- 10 ธ.ค. 2559 งานเทศกาลไหมนานาชาติประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาดจังหวัดขอนแก่น ประจำปี 2559
นายกำธร ถาวรสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า งานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาดจังหวัดขอนแก่น ประจำปี 2558 กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน - 10ธันวาคม 2558 รวม 12 วัน 12 คืน ณ บริเวณสนามศาลากลางจังหวัดขอนแก่น วัตถุประสงค์ก็เพื่อแสดงเอกลักษณ์ความสวยสดงดงามของลายผ้าไหมของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งผ้าไหมไทยที่มีมาก และสวยงามที่สุดของประเทศไทย เพื่อยกระดับผ้าไหมของขอนแก่น ให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ เพื่ออนุรักษ์ประเพณีผูกเสี่ยว ซึ่งเป็นประเพณีพื้นบ้านที่สืบทอดกันมายาวนานจนเป็นวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่แสดงออกถึงความรัก ความผูกพันประดุจเพื่อนรักเพื่อนตายกัน รวมทั้งเผยแพร่ชื่อเสียง แหล่งท่องเที่ยว ของจังหวัดขอนแก่น ให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างประเทศ และเพื่อหารายได้ให้เหล่ากาชาดจังหวัด สำหรับนำไปช่วยเหลือราษฎรที่เดือดร้อนและประสบสาธารณภัยต่าง ๆ งานเทศกาลไหมขอนแก่นก้าวสู่สากล แต่ยังคงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีของชาวจังหวัดขอนแก่น โดยเฉพาะประเพณีผูกเสี่ยว ที่สืบทอดและอยู่คู่กับจังหวัดขอนแก่น เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวขอนแก่น ให้ความสำคัญจัดให้มีกิจกรรมการผูกเสี่ยว ณ ศาลาผูกเสี่ยวทุกคืน ส่วนในด้านที่พัก ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายของฝากของที่ระลึก สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เราก็มีอย่างเพียงพอ และด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้มีการ เตรียมการประชุมวางแผนการรักษาความปลอดภัยให้ประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศไว้ รองรับตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้จังหวัดขอนแก่น ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายแห่งให้ท่านได้ไปท่องเที่ยว สำหรับการเดินทางสู่จังหวัดขอนแก่น ก็มีทั้งรถไฟ รถโดยสารปรับอากาศตลอด 24 ชั่วโมง เครื่องบินวันละหลายสิบเที่ยว ก็ขอเชิญชวนทุกท่านมาเที่ยวงานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาดจังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน - 10 ธันวาคม 2559
งานเทศกาลไหมหรือที่นิยมเรียกว่า "งานไหมขอนแก่น เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อปี2522 ต่อมาได้นำเอาประเพณีผูกเสี่ยว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวขอนแก่น และชาวภาคอีสานเข้าจัดร่วมกับงาน เทศกาลไหม และในปี 2526 ได้มีการเพิ่มคำว่างานกาชาดเข้าไปด้วย จึงมีชื่องานว่า งานเทศกาลไหม ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาดจังหวัดจังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และในปี 2558 ประเทศไทยก็จะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดังนั้นเพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับงานไหมของจังหวัดขอนแก่นให้เป็นงานที่จะก้าวสู่สากลภายใต้ชื่องานว่า "เทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาดจังหวัดขอนแก่น”
ภาพและข่าว จาก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดขอนแก่น




วันพ่อแห่งชาติ

                   วันพ่อแห่งชาติ

ภาพจาก Boonsom / Shutterstock.com  



          วันพ่อแห่งชาติ 2559 มาอ่านประวัติความเป็นมาของวันพ่อแห่งชาติในประเทศไทยและทั่วโลกกัน

          เราทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าวันที่ 5 ธันวาคม นั้นเป็น "วันพ่อแห่งชาติ" โดยทางราชการได้กำหนดให้วันพ่อแห่งชาติ เป็นวันหยุดราชการหนึ่งวัน
 แต่รู้กันหรือไม่ว่า "วันพ่อแห่งชาติ" ของแต่ละประเทศตรงกับวันไหน และ วันพ่อแห่งชาติ ของประเทศไทยมีที่มาอย่างไร กระปุกดอทคอม จะพาไปรู้จักเรื่องราวของ "วันพ่อแห่งชาติ" กันค่ะ

ประวัติ วันพ่อแห่งชาติ และ วันพ่อแห่งชาติ ในทั่วโลก
          วันพ่อแห่งชาติ ถือเป็นวันสำคัญที่ฉลองถึงความเป็นพ่อ และบุคคลที่นับถือเยี่ยงพ่อ โดย จอห์น บี. ดอดด์ ชาวอเมริกัน เป็นผู้ที่ริเริ่มแนวคิด วันพ่อแห่งชาติ โดยงาน วันพ่อแห่งชาติ ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2461 ในโบสถ์แห่งหนึ่งในเมืองแฟร์มอนต์ รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

          ก่อนที่แนวคิดวันพ่อแห่งชาติ ของจอห์น บี. ดอดด์ จะถูกเผยแพร่ไปในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยวันพ่อแห่งชาติของแต่ละประเทศจะกำหนดวัน และจัดงานแตกต่างกันไป เช่น

           วันที่ 19 มีนาคม เป็น วันพ่อแห่งชาติ ของประเทศสเปน โปรตุเกส อิตาลี

           วันที่ 8 พฤษภาคม เป็น วันพ่อแห่งชาติ ของประเทศเกาหลีใต้

           วันที่ 5 มิถุนายน เป็น วันพ่อแห่งชาติ ของประเทศเดนมาร์ก

           วันอาทิตย์ที่สามของเดือนมิถุนายน เป็น วันพ่อแห่งชาติ ของประเทศญี่ปุ่น อาร์เจนตินา ไอร์แลนด์ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร

           วันที่ 23 มิถุนายน เป็น วันพ่อแห่งชาติ ของประเทศโปแลนด์

           วันอาทิตย์ที่สองของเดือนสิงหาคม เป็น วันพ่อแห่งชาติ ของประเทศบราซิล

           วันอาทิตย์แรกของเดือนกันยายน เป็น วันพ่อแห่งชาติ ของประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์

           วันอาทิตย์ที่สองของเดือนพฤศจิกายน เป็น วันพ่อแห่งชาติ ของประเทศฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์

           วันที่ 5 ธันวาคม เป็น วันพ่อแห่งชาติ ของประเทศไทย



วันพ่อแห่งชาติ ในประเทศไทย
        สำหรับวันพ่อแห่งชาติของประเทศไทย ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2470 และยังได้มีการกำหนดให้ดอกพุทธรักษา เป็นสัญลักษณ์ วันพ่อแห่งชาติ

          ทั้งนี้ นอกจากวันที่ 5 ธันวาคม จะเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และเป็น "วันพ่อแห่งชาติ" แล้ว ยังถือว่าวันนี้เป็น "วันชาติของไทย" อีกด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยมีการกำหนดวันชาติให้เป็นวันที่ 24 มิถุนายน เพราะเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย โดยได้มีการเฉลิมฉลองวันชาติครั้งแรกในปี พ.ศ. 2482 ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกฯ 

          ซึ่ง "วันชาติ" ของไทยนั้นอยู่มานานถึง 21 ปี จนวันที่ 21 พฤษภาคม 2503 ในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกฯ ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย โดยเหตุที่เปลี่ยนเพราะมีข้อไม่เหมาะสมหลายประการ คณะกรรมการจึงมีความเห็นว่าเพื่อให้เป็นไปตามขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นหลักการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน 

          จึงควรถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย โดยยกเลิกวันชาติ ในวันที่ 24 มิถุนายนเสีย ดังนั้นนับแต่ปี 2503 ประเทศไทยจึงได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็น "วันชาติ" ของไทย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา   

 


ที่มาของ วันพ่อแห่งชาติ ในประเทศไทย

          วันพ่อแห่งชาติ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษาเป็นผู้ริเริ่มจัดงานวันพ่อแห่งชาติ เนื่องจาก "พ่อ" คือผู้ที่ควรได้รับการเทิดทูน และยกย่อง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดา และทรงทะนุบำรุงพระราชโอรส และพระราชธิดาด้วยความรัก ทรงอบรมอนุศาสน์ให้ทรงเจริญวัยสมบูรณ์ และทรงบำเพ็ญคุณานุประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนเพื่อให้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท

           นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้พสกนิกรถ้วนหน้า จึงถือเป็น "พ่อแห่งชาติ" ของพสกนิกรชาวไทยทุกคน ที่อาณาประชาราษฎร์เทิดทูนด้วยความจงรักภักดี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และยึดมั่นในการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท 
วัตถุประสงค์ของการจัดงาน วันพ่อแห่งชาติ
         วัตถุประสงค์ของการจัดงาน วันพ่อแห่งชาติ คือ 
          1. เพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

          2. เพื่อเทิดทูนพระคุณของพ่อ และยกย่องบทบาทของพ่อที่มีต่อครอบครัวและสังคม

          3. เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อ

          4. เพื่อให้ผู้เป็นพ่อ สำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน

          5. เพื่อประกาศเกียรติคุณให้กับพ่อ และลูกที่ปฏิบัติหน้าที่ของตนได้เป็นอย่างดี สมควรแก่การยกย่องของสังคม

          6. เพื่อรักษาประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของชาติไทยให้คงอยู่ต่อไป




กิจกรรม 5 ธันวาคม วันพ่อแห่งชาติ
          กิจกรรมที่นิยมปฏิบัติในวันเฉลิมพระชนมพรรษา และวันพ่อแห่งชาติ ได้แก่ การประดับธงชาติที่อาคารบ้านเรือน, การจัดพิธีศาสนสงฆ์ ทำบุญใส่บาตร เพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศล น้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล, การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และที่ขาดไม่ได้สำหรับกิจกรรมวันพ่อแห่งชาติ คือการมอบรางวัลพ่อตัวอย่างหรือพ่อดีเด่น เพื่อเทิดทูนพระคุณของพ่อ และยกย่องบทบาทของพ่อที่มีต่อครอบครัวและสังคม อีกทั้งยังเพื่อให้ผู้เป็นพ่อได้สำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน 

          และในวันพ่อแห่งชาติที่จะมาถึงนี้ ลูก ๆ ทั้งหลายก็อย่าลืมแสดงความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อพ่อ แม้ว่าจริง ๆ แล้วการแสดงความรักและความกตัญญูต่อพ่อสามารถแสดงได้ทุกวัน ไม่ใช่แค่วันพ่อแห่งชาติ เพียงวันเดียว