พิธี “ขึ้นบ้านใหม่” เป็นหนึ่งในความเชื่อของชาวไทยที่ได้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งสำหรับการสร้างสิริมงคลให้กับตัวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นบ้านมือสองหรือมือหนึ่งที่เพิ่งซื้อและเข้ามาอยู่อาศัยได้ไม่นาน สำหรับการทำพิธีนี้จึงเป็นทั้งความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณีที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ช่วยให้เจ้าของบ้านและสมาชิกในครอบครัวมีความสุขกายสบายใจ ทั้งในแง่ที่ช่วยปัดเป่าเอาสิ่งชั่วร้าย เหลือไว้แต่สิ่งดีๆ ภายในบ้าน ซึ่งจะช่วยเชิดชูจิตใจของทุกคนให้มีแต่ความสุขความเจริญ แม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นเพียงพิธีกรรมที่ทำสืบต่อกันมาตามบขนบธรรมเนียมโบราณ โลกที่เข้าสู่ยุควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างในปัจจุบัน งานขึ้นบ้านใหม่ก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่เคยจางหายไป และยังเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างกำลังใจดีๆ ให้กับทุกคนในครอบครัว เพื่อความเบากายสบายใจว่าบ้านที่อาศัยอยู่จะมีแต่สิ่งดีๆ เข้ามา
นอกจากการขึ้นบ้านใหม่จะเป็นเรื่องของความเชื่อในทางไสยศาสตร์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว สิ่งนี้ยังเป็นการบอกกล่าวให้ผู้คนรอบด้าน โดยเฉพาะเหล่าเพื่อนบ้านได้เปิดรับเข้ามาทำความรู้จักกันเอาไว้ เมื่อในยามเดือดร้อนจะได้บอกกล่าวขอความช่วยเหลือกันและกันได้สะดวกมากขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย ถือว่าเป็นการสร้างมิตรภาพระหว่างกันของคนในชุมชนให้ได้รู้จักกันเอาไว้ก่อน
เริ่มต้นพิธีสำหรับการเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้าน
ก่อนที่จะเข้าสู่พิธีขึ้นบ้านใหม่ เจ้าของบ้านต้องทำพิธี “เข้าบ้านใหม่” เสียก่อน ซึ่งพิธีจะเริ่มต้นด้วยการให้หัวหน้าครอบครัวหรือเจ้าบ้านเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมทั้งหมด ที่สำคัญจะต้องมีการอัญเชิญพระพุทธรูปประจำบ้านให้เข้ามาประดิษฐานเพื่อคอยปัดเป่าภูติผีและสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาภายในบ้านได้ ในขณะอัญเชิญให้ทำการจุดธูปเทียนเพื่อเป็นการบูชา จากนั้นจึงตามด้วยอธิษฐานเพื่อบอกกล่าวแก่องค์พระเพื่อให้ท่านได้ปกป้องคุ้มครองบ้านหลังนี้ให้มีแต่ความสุขความเจริญ ห่างไกลจากสิ่งไม่ดี ให้สมาชิกในครอบครัวมีความปลอดภัยและอยู่เย็นเป็นสุข
บ้านบางหลังก็จะมีการทำพิธีกรรมเล็กๆ นิมนต์พระ 1 รูปมาทำการประพรมน้ำมนต์ที่ผ่านการปลุกเสกตามห้องต่างๆ เพื่อปัดเป่าเอาสิ่งไม่ดีออกไป และช่วยเสริมสิริมงคลอันเป็นความเชื่อสำคัญของคนไทยให้มากขึ้น สุดท้ายอย่าลืมที่จะอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวร เจ้าที่เจ้าทางและเหล่าสัมภเวศีทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในบ้านและบริเวณใกล้เคียงด้วย
พิธีกรรมการขึ้นบ้านใหม่
สำหรับรายละเอียดของการขึ้นบ้านใหม่ หลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรมเข้าบ้านใหม่แล้ว พิธีนี้จะเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำกันทุกบ้านตามความเชื่อ ส่วนพิธีจะเล็กหรือใหญ่โตมโหฬารแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ของเจ้าบ้านเอง แต่ผลลัพธ์ของสิ่งที่ได้มา ไม่ว่าจะเป็นพิธีเล็กหรือใหญ่ก็ล้วนให้ความหมายที่ดีต่อคนในครอบครัวไม่น้อยไปกว่ากัน บางบ้านมีงบประมาณจำกัดก็ทำแบบง่ายๆ ในครอบครัวแบบไม่ได้ชวนชาวบ้านใกล้เคียงมาร่วมพิธี แต่หากใครมีงบมากและต้องการให้ตัวเองเป็นที่รู้จักของผู้คนในชุมชน ก็สามารถจัดงานเลี้ยงฉลองอย่างใหญ่โต เพื่อสร้างสีสันและความสนุกครื้นเครงให้กับคนอื่นร่วมด้วย
สิ่งที่ควรเตรียมสำหรับการจัดพิธี
ในพิธีกรรมนี้ สิ่งของที่ไม่ควรขาดคือดอกไม้ธูปเทียน พระพุทธรูป ผลไม้และไม้มลคลต่างๆ ซึ่งจะนำเอาใช้สำหรับการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในที่นี้อาจจะมีการบวกรวมกับขนมไทยที่มีชื่อเป็นมงคลรวมอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ทองหยิบ ทองหยอด และทองเอก เป็นต้น
ต่อมาคือบุคคลที่ควรมีในงานคือผู้อาวุโส โดยส่วนใหญ่จะเลือกใช้เป็นผู้ชายซึ่งจะง่ายต่อการถวายของให้แก่พระและเป็นผู้ถือพระพุทธรูป โดยผู้อาวุโสที่เลือกนั้นจะต้องเป็นคนที่ผู้คนให้ความเคารพนับถือด้วย ในขั้นตอนที่สำคัญคือจะให้ผู้อาวุโสชายถือพระพุทธรูปเข้าสู่ตัวบ้าน ถือว่าเป็นผู้นำ จากนั้นคนอื่นๆ ให้เดินตามเข้าไป เชื่อกันว่าการกระทำเช่นนี้จะทำให้บ้านที่สร้างเสร็จมีความร่มเย็นเป็นสุข จากนั้นจึงนำเอาพระไปตั้งไว้ยังหิ้งพระที่จัดเตรียมเอาไว้
พระสงฆ์ที่นิมนต์มาควรนิมนต์มาก่อนวันทำบุญไม่น้อยไปกว่า 5 วัน โดยให้เลือกระหว่าง 5,6 หรือ 9 รูป เพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมด้วยการจัดโต๊ะหมู่บูชา มีผ้าขาว กระถางธูปและเชิงเทียน โดยจัดให้โต๊ะหมู่อยู่ด้านขวาของพระสงฆ์
อย่าลืมก่อนเริ่มพิธีกรรมควรมีการบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางบริเวณนั้นว่าจะขอเข้ามาอยู่อาศัย เพื่อช่วยให้ท่านปกปักรักษา ให้บ้านอยู่เย็นเป็นสุข มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง และปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง บางบ้านตามชนบทยังมีความเชื่อเกี่ยวกับผีบ้านผีเรือนด้วย โดยเฉพาะตามเสาบ้าน เชื่อกันว่ามีผีสิงห์สถิตอยู่ จึงจะมีการเตรียมกระทงใบตองขนาดเล็ก ใส่อาหารคาวหวาน เหล้า และบุหรี่ตั้งเอาไว้บริเวณเสาเพื่อทำการเซ่นให้ผีบ้านผีเรือนออกมากินอาหาร
ที่สำคัญอย่าลืมจัดให้อาสน์สงฆ์อยู่สูงกว่าเหล่าฆราวาส มีการเตรียมแก้วน้ำ กระโถน และปัจจัยเอาไว้ด้วย โดยทั่วไปก็จะมีการล้อมสายสิญจน์รอบบ้านเอาไว้ในขณะทำพิธี เพื่อให้ภายในบ้านปลอดภัยจากสิ่งชั่วร้าย ถือว่าเป็นแดนศักดิ์สิทธิ์มีการเริ่มต้นจากจุดขององค์พระพุทธรูป เชื่อมต่อไปยังมุมห้อง ใช้การเวียนขวาไปรอบเรือน จากนั้นวกกลับเข้ามาที่ตัวพระพุทธรูปและจบที่บาตรน้ำมนต์ ซึ่งภายในจะมีการจัเตรียมน้ำสะอาดเอาไว้เพื่อใช้ในขณะช่วงทำพิธีกรรมด้วย
เริ่มต้นพิธีขึ้นบ้านใหม่
เมื่อเตรียมสิ่งของ ปัจจัยและบุคคลที่สำคัญๆ ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ถึงขึ้นตอนของการเริ่มพิธี ซึ่งส่วนใหญ่จะมีรูปแบบที่ไม่แตกต่างกัน ที่สำคัญวันที่ใช้สำหรับการเริ่มพิธีขึ้นบ้านใหม่หากให้ดีควรไปดูฤกษ์ยามกับทางเจ้าอาวาสให้ท่านแนะนำมาด้วย เมื่อเริ่มพิธีหลังจากที่นิมนต์พระมาตามจำนวนดังกล่าวข้างต้นแล้วก็จะเข้าสู่พิธีการดังต่อไปนี้ค่ะ
1.เจ้าอาวาสและพระสงฆ์ที่นิมนต์มาจะเดินทางมาที่บ้านตามจำนวนเลขคี่ที่เลือกไว้ขึ้นเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการเจริญพระพุทธมนต์พร้อมมัคทายก ซึ่งจะช่วยให้พิธีการราบรื่นเป็นไปตามแบบแผนได้ดี
2.เจ้าภาพจะทำการจุดเทียนเพื่อบูชาพระรัตนตรัย ส่วนพิธีกรหรือมัคทายกจะเป็นผู้เริ่มนำสวดกล่าวคำบูชาพระ กราบพระ และอาราธนาศีลตามด้วยการให้ศีลจากพระสงฆ์
3.เข้าสู่ขั้นตอนอาราธนาพระปริตร และพระสงฆ์จะเริ่มเจริญพระพุทธมนต์ เจ้าภาพจะจุดเทียนน้ำมนต์เมื่อพระสงค์สวดถึงในท่อน “อเสวนา จะ ฯลฯ”
4.หลังจากเจริญพระพุทธมนต์จบ เจ้าภาพจะต้องทำการถวายภัตราหารหรือเพลแก่พระสงฆ์บริเวณด้านหน้า พิธีกรจะเป็นผู้กล่าวนำคำถวายข้าวแด่พระสงฆ์ จากนั้นก็จะต้องรอให้พระสงฆ์ฉันภัตราหารเสร็จจึงเข้าสู่พิธีการต่อไป
4.เข้าสู่ขั้นตอนที่เจ้าภาพถวายเครื่องไทยธรรมแก่พระสงฆ์และอนุโมทนาบุญ
5.เจ้าภาพทำการกรวดน้ำตามด้วยการรับศีลรับพรเป็นลำดับต่อไป
6.พระสงฆ์ผู้เป็นประธานจะทำการประพรมน้ำมนต์พระพุทธมนต์ ส่วนพระสงฆ์ที่เหลือจะทำการเจริญชัยมงคลคาถา ตามด้วยการเจิมประตูบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล และประตูของห้องต่างๆ ทุกห้อง โดยเฉพาะห้องนอน มีการประพรมน้ำมนต์ตามห้องที่เจ้าภาพต้องการ รวมไปถึงบริเวณบ้าน ส่วนนอกบ้านอาจจะมีการโปรยทรายเสก ซึ่งส่วนใหญ่จะเหมาะสำหรับบ้านใหม่ที่ไม่เคยได้รับการโปรยมาก่อน แต่หากบ้านไหนเคยทำแล้วก็ไม่จำเป็นต้องทำการโปรยอีก
7.เจ้าภาพทำการกราบพระรัตนตรัย หลังจากนี้ถือว่าเสร็จสิ้นพิธีการและพระสงฆ์เดินทางกลับ บ้านหลังไหนที่มีฐานะหน่อยอาจจะมีการเฉลิมฉลองตามมาในภายหลังจากนั้น หรือมีการบรรเลงเพลงมหาฤกษ์เพื่อเป็นการปิดพิธีอย่างเป็นทางการก็สามารถทำได้เช่นกัน
ค่าใช้จ่ายโดยประมาณสำหรับการขึ้นบ้านใหม่
ในปัจจุบันการขึ้นบ้านใหม่สำหรับมือใหม่ที่ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องพิธีกรรมสมัยโบราณเช่นนี้ เริ่มมีธุรกิจจัดเตรียมพิธีแบบเป็นแพคเกจเอาไว้ให้เพื่อความสะดวกสบาย เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีความรู้ในด้านนี้เลย มีให้เลือกหลากหลายราคาตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงใหญ่โต จะมีราคาเริ่มต้นคร่าวๆ แบบรวมทุกอย่างอยู่ที่ 10,000 บาทขึ้นไป ส่วนกรณีที่มีการจัดการกันเองแบบในครอบครัว เชิญพระมาทำพิธีแบบเล็กๆ ก็จะตกอยู่ประมาณ 5,000 บาทเป็นขั้นต่ำ ซึ่งราคาเหล่านี้ไม่ถือว่าตายตัว ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างของเจ้าบ้านร่วมด้วย เพราะบางคนก็ต้องการทำเพียงเพื่อสร้างความร่มเย็นให้บ้านแต่พองาม แต่คนที่พอมีทรัพย์หน่อยก็อาจจะต้องการความเอิกเกริกใหญ่โตตามความพึงพอใจนั่นเองค่ะ
ข้อห้ามที่ไม่ควรทำสำหรับการขึ้นบ้านใหม่
สำหรับการขึ้นบ้านใหม่ หลายคนมีความเชื่อที่ผิดๆ หรือมองข้ามบางอย่างไป โดยทั่วไปตามหลักของโหราศาสตร์ ฤกษ์ต้องห้ามที่ไม่ควรจัดงานคือวันเสาร์ ซึ่งถือว่าเป็นวันแห่งความเศร้าเสียใจ เกี่ยวข้องกับบาป เคราะห์กรรมและความโชคร้ายที่จะเข้ามาเยือนได้ ส่วนข้อห้ามเด็ดขาดหลังจากบ้านสร้างเสร็จและยังไม่ได้เริ่มพิธีกรรมใดๆ ไม่ควรเข้าไปทดลองนอนเล่นหรือค้างคืนในทันที แม้กระทั่งการย้ายข้าวของเข้ามาก็ควรรอฤกษ์ยามที่เหมาะสมก่อน ยกเว้นของตกแต่งที่ซื้อมาใหม่เท่านั้นที่สามารถนำเอาเข้าไปตั้งวางได้ แต่ทางที่ดีก็ควรหลีกเลี่ยงการติดตั้งหรือจัดวางสิ่งของในวันเสาร์เป็นดี เพื่อช่วยสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับที่พักอาศัยได้มากที่สุด
แม้ว่าการขึ้นบ้านใหม่จะเป็นเพียงความเชื่อที่สืบทอดกันมา แต่ในปัจจุบันพิธีกรรมเหล่านี้ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของประเพณี แม้กาลเวลาจะเดินเข้าสู่โลกของวิทยาศาสตร์ แต่ด้วยความพึงพอใจและสบายใจของเจ้าบ้าน การจัดงานขึ้นบ้านใหม่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับการเริ่มต้นชีวิตที่ดีงามภายในบ้านหลังใหม่ได้อย่างมีความสุข
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น